การดึงคิ้ว
(Brow Lift)

การดึงคิ้วเป็นวิธีการผ่าตัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดึงหน้าผากและการดึงขมับ แต่ เนื่องจาก มีวิธีการผ่าตัด หลายวิธี จึงนำมาเขียนแยกในเรื่องนี้ เมื่อเรามีอายุมากขึ้น คิ้ว จะเลื่อน ตำแหน่งลงมาใกล้ตามากขึ้น โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เนื่องจากขบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นโดยเวลาเป็น 10 ปี การตกของคิ้วมีผลให้หนังตาทั้ง 2 ข้างหย่อนลงปิดชั้นตา ในคนไข้บางรายที่มีปัญหา เรื่องหางตาตก อาจเกิดจากคิ้วตกร่วมด้วย โดยทั่วไปการตกของคิ้วมักเกิดร่วมกับรอยตีนกาที่ชัดเจน และ รอยย่นหน้าผากที่ชัดเจนขึ้น  บางรายการ ผ่าตัด ชั้นตาบนอาจไม่แก้ปัญหาในผู้ป่วยบางราย อาจต้องผ่าตัดยกคิ้ว เพื่อให้ชั้นตาดูดีขึ้นมากกว่าการทำชั้นตาบนอย่างเดียว

เทคนิคการผ่าตัดดึงคิ้ว

เทคนิคที่ 1

การผ่าตัดดึงหน้าผากโดยทั่วไป อาจทำโดยการฉีดยาชาหรือวางยาสลบ การผ่าตัดดึงหน้าผาก นอกจากจะช่วยยกคิ้วแล้วยัง ช่วยลดรอยย่นบริเวณหน้าผากด้วย ในปัจจุบัน วิธีการดึงคิ้ว มี 2 วิธี คือ

A การผ่าตัดปกติ  จะมีแผลเป็นรอบศีรษะ  สามารถเข้าไปตัดกล้ามเนื้อที่ใช้ขมวดคิ้วได้ ช่วยให้รอยย่นบริเวณหัวคิ้วดีขึ้นมาก

B การผ่าตัดโดยใช้กล้อง (endoscopic forehead lift) มีข้อดีคือมีอาการบวมค่อนข้างน้อย และปัญหาเรื่องการชาบริเวณศีรษะน้อยกว่าวิธีที่ 1 เพราะมีแผลเป็นขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่มีแผลเป็นน้อยกว่าวิธี A

เทคนิคที่ 2

การผ่าตัดดึงขมับ (temporal lift) ใช้กับผู้ที่ต้องการยกคิ้วทางด้านข้าง โดยที่มีรอยย่นที่หน้าผากน้อย และการผ่าตัดช่วยยกคิ้วทางด้านข้างขึ้น ช่วยทำให้ชั้นตาสูงขึ้นในผู้ที่มีคิ้วตกบางราย เทคนิคการดึงขมับมีแผลเป็นได้ 2 บริเวณ คือโดยการผ่าตัดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการดึงคิ้ว อาจมีแผลเป็นเล็กกว่าการดึงขมับโดยทั่วไป

เทคนิคที่ 3

เป็นการดึงคิ้วโดยใช้การสอดไหม เป็นวิธีการผ่าตัดที่มีแผลบริเวณศีรษะ ขนาด 1.5 cm. และบริเวณคิ้วประมาณ 0.5 cm. สามารถผ่าตัดที่คลินิกได้ มีข้อดีคือมี แผลเป็นเล็กและสามารถฉีดยาชาที่คลินิกได้้ แต่สามารถยกคิ้วได้น้อย และทำให้รอยย่นที่หน้าผากเห็นชัดขึ้น เป็นการดึงยกคิ้วขึ้น โดยที่ผิวหนังบริเวณหน้าผากไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่ง

เทคนิคที่ 4

เป็นเทคนิคที่เป็นการตัดผิวหนังที่อยู่เหนือคิ้วออก (Direct browlift of Lewis) วิธีนี้ช่วยให้ดึงคิ้วได้มากกว่าวิธีที่ 2 และ 3 เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแก้ไขตำแหน่งคิ้วโดยตรง  แต่เนื่องจากในการตัดผิวหนังที่บริเวณคิ้วโดยตรง ทำให้เห็นแผลเป็นชัดในคนไข้บางราย ผู้ที่เหมาะกับวิธีดังกล่าว คือ

1) ผู้ที่ทำคิ้ว ถาวรอยู่แล้ว หรือต้องการทำคิ้วถาวร โดยแผลเป็นที่เกิดจากการดึงคิ้วสามารถซ่อนในคิ้วได้

2) ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศในแถบหนาว เนื่องจากแผลเป็นมักเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากรายละเอียดการดึงหน้าผาก ได้กล่าวแล้ว ในหัวข้อการดึงหน้าผาก ในที่นี้ จะกล่าวถึงการยก เฉพาะเทคนิคที่ 2, 3, 4

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดดึงคิ้ว

⦁ งดยาต้านการอักเสบ (NSAID) เช่นแอสไพริน บุหรี่ อาหารเสริมบางตัวที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น กระเทียม  น้ำมันปลา อย่างน้อย 2 อาทิตย์ ก่อนการผ่าตัด

⦁ สมุนไพรบางชนิดเช่นอีฟนิ่งพริมโรส ยาวิตามินอีปริมาณสูง ๆ อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส กระเทียม หัวหอม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหรือมีปัญหาระหว่างผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจต้องหยุดรับประทานสมุนไพรก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 3 – 5 วัน

⦁ สำหรับผู้ที่จะวางยาสลบต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6  ชั่วโมง

⦁ สระผมตอนเช้าก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

⦁ ผู้ที่มีความดันสูงต้องควบคุมให้เป็นปกติก่อนผ่าตัด  2 อาทิตย์

⦁ เตรียมลาหยุดงานประมาณ 5 วัน

⦁ ในผู้ที่เตรียมทำ เทคนิคที่ 4 อาจต้องเตรียมทำคิ้วถาวรประมาณ 3 -4 อาทิตย์ หลังผ่าตัด

⦁ ควรเตรียมแว่นตามาในวันผ่าตัด เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด (กรณีที่ใช้เทคนิคที่ 3 และ 4)

⦁ ถ้ามีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

⦁ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจบางชนิด ต้องกินยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยา aspirin ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนผ่าตัด

⦁ ผู้ที่กินยา Cunadin เพื่อป้องกันภาวะการแข็งตัวของเส้นเลือดดำที่ขาหรือในผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวและหยุดยาก่อนมารับการผ่าตัด

⦁ ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ( Pacemaker) ไม่ควรทำการผ่าตัด

⦁ เครื่องประดับที่เป็นโลหะควรถอดเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อป้องกันการสูญหาย เนื่องจากไม่สามารถใส่ระหว่างผ่าตัดได้

ขั้นตอนการผ่าตัดดึงคิ้ว

⦁ การผ่าตัด เทคนิคที่ 2 , 3 , 4 สามารถทำโดยฉีดยาชาที่คลินิก

⦁ เทคนิคที่ 2 จะมีแผลที่ บริเวณ ไรผม โดยที่มีการ ตัดผิวหนังศีรษะบางส่วนออก แล้วเย็บเพื่อย้ายตำแหน่งใหม่ให้คิ้วสูงขึ้น หลังจากนั้นจะเย็บปิดแผลที่ศีรษะ

⦁ สำหรับเทคนิคที่ 3 จะลงบริเวณที่ขอบคิ้ว 0.5 cm. และหนังศีรษะ 1.5 cm. , ยกคิ้วถึงตำแหน่งที่ต้องการ และเย็บปิดแผลบริเวณคิ้วและหนังศีรษะ

⦁ เทคนิคที่ 4 จะมีแผล เฉพาะที่ขอบคิ้ว โดยลงแผลที่ขอบคิ้ว ยกคิ้วถึงตำแหน่งที่ต้องการ แล้วเย็บปิดแผล

⦁ การผ่าตัดทั้งแบบที่ 2 – 4 ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง การดูแลหลังการผ่าตัดดึงคิ้ว

⦁ ประคบเย็นที่ใบหน้า (บริเวณหน้าผากและคิ้วทั้ง 2 ข้าง) วันละ 4 ครั้ง  เพื่อลดอาการบวม ประมาณ  7 – 10 วัน

⦁ นอนยกศีรษะสูง (หนุนหมอน  2 ใบ) เพื่อลดอาการบวม

⦁ แผลบริเวณคิ้วจะตัดไหมประมาณ 5 วัน

⦁ แผลที่ศีรษะโดยปกติจะนัดคลายปมไหม 7 วัน และตัดไหม 10 วัน

⦁ หลังจากคลายไหมแล้ว ใช้ “Vitamin E” ทานวดที่แผล เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนแข็ง (ทานวดประมาณ 3  เดือน) วันละ 2 ครั้ง ทุกๆ วัน

⦁ รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนหมด ถ้าเกิดอาการแพ้ยา  เช่น  มีผื่นแดง, คัน, คลื่นไส้อาเจียน, แน่นหน้าอก ให้มาพบแพทย์ทันที

หมายเหตุ

⦁ ล้างหน้า, สระผมได้ตามปกติ (1 เดือนหลังทำผ่าตัดสามารถทำสีผมได้)

⦁ 2  อาทิตย์หลังทำผ่าตัดนั้น หากที่บริเวณแผลมีรอยเขียวช้ำสามารถประคบน้ำร้อนได้  วันละประมาณ 2  ครั้ง (รอยฟกช้ำนั้นสามารถหายได้ตามธรรมชาติ)

⦁ หลังตัดไหมแล้ว หากพบไหมยังหลงเหลืออยู่  ให้ดึงหรือตัดออกเอง

⦁ นวดบริเวณคิ้วและหน้าผาก วันละ  2 ครั้ง  เพื่อลดอาการตึงของแผลเป็น,  อาการแข็งบริเวณแผล และให้โลหิตไหลเวียนสะดวก

⦁ รับประทานอาหาร, ออกกำลังกายได้ตามปกติ

⦁ ห้ามถูกแสงแดด ประมาณ 1 เดือน

error: Content is protected !!